
สมุนไพรเปล้าใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปาะ (กำแพงเพชร), ควะวู (กาญจนบุรี), เปล้าหลวง (ภาคเหนือ), เซ่งเค่คัง สะกาวา สกาวา ส่ากูวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ห้าเยิ่ง (ชาน-แม่ฮ่องสอน), คัวะวู, เปวะ เป็นต้น โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฎาน บังคลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน พม่า และในประเทศไทย โดยสามารถพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ มักขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง
ลักษณะของเปล้าใหญ่
- ต้นเปล้าใหญ่ หรือ ต้นเปล้าหลวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 8 เมตร เปลือกของลำต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย ที่กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ตามใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอก จะมีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็ก ๆ ปกคลุมอยู่ทั่วไป โดยมักพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ที่มีความสูงไม่เกิน 950 เมตร
- ใบเปล้าใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือเป็นรูปใบหอก ใบรียาว มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-30 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ลักษณะของใบจะลู่ลง ใบอ่อนจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง หลังใบเรียบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่นลงมา ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.3-6 เซนติเมตร และฐานใบมีต่อม 2 ต่อม
- ดอกเปล้าใหญ่ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีหลายช่อ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 12-22 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีเหลืองแกมสีเขียว ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ โดยดอกตัวผู้เป็นสีขาวใส มีกลีบดอกสั้นจำนวน 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานกว้าง ๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล โดยกลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนอยู่หนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมลักษณะกลม ๆ 5 ต่อม มีเกสรตัวผู้ 12 อัน เกลี้ยง ส่วนดอกตัวเมียเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบเล็ก ลักษณะเป็นรูปยาวแคบ ขอบกลีบจะมีขน ที่โคนกลีบดอกจะติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน และรังไข่เป็นรูปขอบขนาน มีเกล็ด[1] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
- ผลเปล้าใหญ่ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่ผลจะแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแบน มีพู 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กห่างกัน ในผลมีเมล็ดลักษณะแบนรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตรโดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
-
ประโยชน์ของเปล้าใหญ่
- ผลแก่ใช้รับประทานได้
- ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า
- ไม้เปล้าใหญ่ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนต้นใช้เลี้ยงครั่ง
- น้ำยางจากใบใช้ทาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปากในช่วงฤดูหนาว
- ใช้เข้ายาอบสมุนไพร ซึ่งเป็นตำรับยาอบสมุนไพรสูตรบำรุงผิวพรรณให้มีน้ำมีนวล ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้ผดผื่นคัน ขับพิษออกทางผิวหนัง โดยมีใบเปล้าใหญ่เป็นส่วนประกอบ และมีสมุนไพรอื่น ๆ อีก คือ กระชาย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ไพล ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบหนาด และว่านน้ำ แต่ไม่ควรใช้ตำรับยานี้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง สตรีตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้ที่ไม่สบาย ร่างกายอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร เป็นไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และผู้ที่เป็นโรคไต
-
สรรพคุณของเปล้าใหญ่
- เปล้าใหญ่ช่วยบำรุงโลหิต (เปลือกต้นและใบ)
- ใบใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)
- ใบมีรสร้อน เมาเอียน ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ใบ)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)
- ช่วยแก้อาการวิงเวียน ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ด้วยการใช้ใบเปล้าใหญ่เข้ายากับใบหนาด ตะไคร้หอม และเครือส้มลม ใช้ต้มกับน้ำดื่มและอาบ (ใบ)
- ช่วยแก้เลือดร้อน (เปลือกต้นและกระพี้)
- น้ำต้มเปลือกต้นใช้กินเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้กระหาย (ใบ)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก
- ช่วยแก้เสมหะ (ใบ)